วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

BAKUMAN.


BAKUMAN. / วัยซนคนการ์ตูน


ผู้จัดจำหน่าย : TOHO COMPANY
สตูดิโอผู้สร้าง : TOHO COMPANY
ผู้กำกับ : โอเนะ ฮิโรชิ (MOTEKI)
ประเภทของหนัง : COMEDY | DRAMA

“บทความนี้อาจเปิดเผยเรื่องราวของหนังที่อาจทำให้คนที่ยังไม่ดูหนัง
อาจเสียอรรถรสในการดูหนังได้ และการเขียนนี้เป็นความเห็นส่วนตัวล้วนๆ”

มุมมอง
“ความฝันและความจริง”


สำหรับผมถ้ามีใครมาถามว่ามังงะเรื่องไหนที่อ่านแล้วชอบแล้วรักที่สุด (ในรอบสักห้าปีที่ผ่านมานี้) ผมจะตอบแบบไม่ต้องเสียเวลาคิดเลยแม้แต่นิดเดียวครับว่าเรื่องนั้นคือ BAKUMAN. หรือชื่อไทย วัยซนคนการ์ตูน, บาคุมัง เป็นผลงานของสองคู่หูอย่าง อ. โอบะ สึกุมิ (แต่งเรื่อง) และ อ. โอบาตะ ทาเคชิ (วาดภาพ) ที่ครั้งหนึ่งเคยสร้างปรากฏการณ์มาแล้วกับ เดธโน้ต นั่นเอง ซึ่งตัว บาคุมัง นั้นตีพิมพ์ในนิตยการมังงะรายสัปดาห์ที่ขายดีที่สุดในญี่ปุ่นนั่นก็คือ โชเน็นจัมป์ ในช่วงระหว่างปี 2008 ถึงปี 2012 มีความยาว 20 เล่มจบ ทั้งนี้ บาคุมัง ยังถูกนำไปดัดแปลงเป็นอนิเมออกฉายด้วยกันถึงสามซีซั่น.. และแล้ว บาคุมัง ก็จึงถูกนำไปดัดแปลงเป็นหนังคนแสดงภายใต้การกำกับของ โอเนะ ฮิโรชิ (จาก MOTEKI ทั้งฉบับซีรี่ย์และหนัง)

สำหรับตัวหนัง บาคุมัง นั้นเล่าเรื่องความฝันของเด็กหนุ่มสองคนอย่าง มาชิโระ โมริทากะ (นำแสดงโดย ซาโต้ ทาเครุ) ชื่อเล่น ไซโค และ ทาคากิ อากิโตะ (นำแสดงโดย คามิกิ ริวโนะสุเกะ) ชื่อเล่น ชูจิน ที่มีความฝันคือการก้าวขึ้นมายืนอยู่บนจุดสูงของวงการมังงะผ่านผลงานที่ตีพิมพ์ใน โชเน็นจัมป์ ทั้งสองจับคู่กันในนาม อาชิโรกิ มุโตะ เพื่อทำตามคำสัญญาที่ มาชิโระ ให้ไว้กับ อาซึกิ มิโฮะ (โคมัตสึ นานะ) ที่ถ้าวันหนึ่งผลงานของ อาชิโรกิ มุโตะ ได้เป็นอนิเมแล้วมิโฮะมาพากย์ตัวละครเอกทั้ง มาชิโระ และ มิโฮะ จะแต่งงานกัน แต่คู่หู อาชิโรกิ มุโตะ ก็ต้องฟันฝ่าบททดสอบมากมายเพื่อขึ้นสู่จุดสูงสุด โดยเฉพาะกับการปะทะกับคู่แข่งฟ้าประทานอัจฉริยะในรอบสิบปี นิซึมะ เอย์จิ (โซเมทานิ โชตะ) และนักเขียนคนอื่นๆ อีกมากมาย...!! (อนึ่งนี่เป็นเรื่องย่อฉบับมังงะ)


“พลังมิตรภาพ, การต่อสู้ และ ชัยชนะ” นั้นคือแนวทางและธีมหลักของ มังงะสายหลัก (ถ้านึกไม่ออกก็อย่าง ดราก้อนบอล, เซนต์เซย์ย่า, วันพีซ, นารุโตะ, โทริโกะ หรือ โบคุโนะฮีโร่อคาเดเมีย อะไรประมาณนี้) ซึ่งถือว่าเป็นของขึ้นชื่อของ โชเน็นจัมป์ ก็ว่าได้ หรือหากจะพูดว่านี่เป็น สโลแกน ของ โชเน็นจัมป์ ก็ดูจะไม่ผิดอะไรเท่าไรนัก ซึ่งตัว บาคุมัง ฉบับหนังเองก็ได้เอาธีมและสโลแกนอันนี้มาใช้เป็น ธีมเรื่องด้วย และในที่นี้ ‘พลังมิตรภาพ’ หมายถึงตัว ไซโค และ ชูจิน และบรรดาอาจารย์นักเขียนคนอื่นๆ ที่เป็นทั้งเพื่อนแล้วก็เป็นทั้งคู่แข่ง, ‘การต่อสู้’ หมายถึง การต่อสู้กับตัวเองและนักเขียนคนอื่นๆ การพยายามเพื่อให้ได้มีผลงาน และ สู้เพื่อความฝันของตนเอง และสุดท้าย ‘ชัยชนะ’ ก็หมายถึง ความสำเร็จที่ได้มาทั้งผลงานและความฝัน

สำหรับตัวหนัง บาคุมัง เป็นหนังที่ดีมากครับ แทบไม่ต้องเขียนให้มากความเลย อารมณ์ประมาณ WHIPLASH เวอร์ชั่นนักเขียนการ์ตูนที่ตัวละครต้องสู้เพื่อฝันอะไรแบบนี้ แม้จะมีขัดอารมณ์อยู่บ้างที่อยู่ๆ ตัวหนังก็เปลี่ยนเรื่องที่ ไซโค สู้เพื่อความฝันที่จะได้แต่งงานกับ มิโฮะ กลายมาเป็นพวกๆ กลุ่มนักเขียน ที่สู้แบบเอาเป็นเอาตายเพื่อให้เหยียบหัว เอย์จิ เพื่อให้ก้าวขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งในจัมป์ แต่โดยรวมก็นับว่า บาคุมัง เป็นหนังที่ดีครับ แนะนำว่าถ้ามีโอกาศอยากให้หามาดูครับสำหรับคอหนัง (ญี่ปุ่น)


และสำหรับการดำเนินเรื่องของ บาคุมัง ตัวหนังมีการดัดแปลงและเปลี่ยนแปลงเรื่องราวจากตัวเนื้อหาในส่วนมังงะไปไม่มากก็น้อยโดยเฉพาะช่วงต้นของหนังที่เปลี่ยนแปลงไปพอสมควร หนังรวบรัดเรื่องราวที่กินเวลาหลายตอนหลายเล่มให้อยู่ในเวลาสั้นๆ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ไม่ได้ส่งผลอะไรต่อเนื้อหาโดยรวมที่หนังพยายามจะนำเสนอและพยายามจะสื่อมากนัก เป็นการดัดแปลงที่แฟนมังงะ บาคุมัง อย่างผมรับได้และก็โอเคกับการดัดแปลงในส่วนตรงนี้อยู่พอสมควรเลยครับ (ส่วนตัวหนังก็ดัดแปลงให้ทิ้งช่องที่ในอนาคตจะกลับมาทำภาคต่อได้ไม่ยากด้วย)

แม้จะแอบเสียดายที่ไม่ได้เห็นตัวละครสำคัญๆ ในฉบับหนังบางตัวอย่างเช่น คายะ (เพื่อนซี้ มิโฮะ ที่ต่อมาจะเป็นภรรยาของ ชูจิน มีส่วนสำคัญต่อคู่หู อาชิโรกิ จากนี้พอสมควร) หรือ อาโอกิ ยูริโกะ นักเขียนสาวคนสวยของเรื่อง (เห็นได้ชัดเลยว่าหนังตัดตัวละครหญิงสำคัญตัวอื่นๆ หมดเหลือแค่ มิโฮะ เพียงคนเดียวเท่านั้น) ส่วนตัวหนังเองก็มีการดัดแปลงและเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับปี 2015 ด้วย เห็นได้จากหน้าปกจัมป์เป็นรูป โคโระเซนเซย์ หรือตอนประชุมมีการพูดถึง โชคุเงคิ โนะ โซมะ (ยอดนักปรุงโซมะ) อะไรแบบนี้ (ตอนมังงะบาคุมังเริ่มตีพิมพ์ เรื่องพวกนี้ยังไม่ได้ตีพิมพ์ด้วยซ้ำ) หรือแม้แต่มีการพูดถึงวงเดมปะกุมิ ที่ บก. เอามาเป่าหู อ. ฮิรามารุ อะไรแบบนี้


เรื่องการแสดงไม่มีอะไรให้พูดถึงมากมายสักเท่าไรครับ ซาโต้ ทาเครุ เล่นดีเล่นได้ถึงทำให้เชื่อได้จริงว่าเป็นนักเขียนการ์ตูนที่ทุ่มเทให้งาน ส่วน คามิกิ ริวโนะสุเกะ ก็เป็น ชูจิน ที่พูดมากพอสมควร, โคมัตสึ นานะ ก็เล่นได้ดีแม้บทไม่เยอะ แต่ก็มีฉากที่โชว์ความน่ารักหลายฉากเลย ส่วนคนอื่นๆ คิริตานิ เคนตะ ในบท ฟุคุดะ, อาราอิ ฮิโระฟุมิ ในบท ฮิรามารุ, มินางาวะ ซารุโทกิ ในบท นากาอิ, ลิลิ แฟรงกี้ ในบท บก. ซาซากิ, ยามาดะ ทาคายูกิ ในบท คุณฮัตโตริ รวมถึง คุโดะ คันคุโร่ ในบท คุณอา คาวางุจิ ทาโร่ ต่างคนต่างมีบทเด่นให้จดจำพอสมควร แต่ที่จะลืมไม่ได้คือ โซเมทานิ โชตะ ในบท เอย์จิ ถ้าไม่ใช่เจ้า โชตะ นี่นึกไม่ออกเลยใครจะเล่นได้ดีเท่าหมอนี่เลยนะ

สุดท้ายเลยใครที่เป็นแฟนมังงะแฟนอนิเม สะสมหรืออ่านมังงะในเรื่องนี้มี อิสเตอร์เอ็กก์ เยอะมาก บ้างก็มาจากคำพูด บ้างก็มาจากของที่วางตามจุดอะไรแบบนี้ ตั้งแต่ต้นเรื่องยันเอนด์เครดิต (เพลง Shin Takarajima ของ sakanaction ก็เข้ากันเหลือเกิน) แฟนจัมป์มีน้ำตาปริมแน่นอน (ยกตัวอย่างเช่น ทุกวันนี้ยังมีการถกเถียง? ว่า อ. กาโม่ ฮิโรชิ คนแต่ง ลัคกี้แมน กับ อ. โอบะ สึกุมิ ใช่คนเดียวกันมั้ย จากหนังน่าจะสรุปได้ว่าคือคนๆ เดียวกัน เพราะมีอิสเตอร์เอ็กก์อันหนึ่งบนโต๊ะคุณฮัตโตริ เป็น โมเดลของ ลัคกี้แมน ที่เรียงคู่กับ ลุค จาก เดธโน้ต อันกลางนี่น่าจะ ไซโค จาก บาคุมัง ล่ะมั้ง เป็น อีสเตอร์เอ็กก์ อันแรกที่เจอตั้งแต่ต้นเรื่องแล้วตาลุกวาวจริงๆ)...


ความยาวทั้งหมด 119 นาที
คะแนน 9/10

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Powered By Blogger