DAWN OF THE PLANET OF THE APES / รุ่งอรุณแห่งอาณาจักรพิภพวานร
ผู้จัดจำหน่าย : 20TH CENTURY FOX
สตูดิโอผู้สร้าง : CHERNIN ENTERTAINMENT
ผู้กำกับ : แม็ตต์ รีฟส์ (CLOVERFIELD, LET ME IN)
ประเภทของหนัง : ACTION | DRAMA | SCI-FI
“บทความนี้อาจเปิดเผยเรื่องราวของหนังที่อาจทำให้คนที่ยังไม่ดูหนัง
อาจเสียอรรถรสในการดูหนังได้ และการเขียนนี้เป็นความเห็นส่วนตัวล้วนๆ”
มุมมอง
“ก่อนพบพิภพวานรต้องเริ่มต้นที่รุ่งอรุณซ่ะก่อน งานดราม่าวานรที่เจ๋งกว่าภาคแรก!!”
“ซีซ่าร์อยู่บ้านแล้ว!” นี่คือคำพูดที่ ซีซ่าร์ กระซิบข้างหู วิลล์ (เจมส์ ฟรังโก้) ใน RISE OF THE PLANET OF THE APES เมื่อปี 2011 อันเป็นจุดเริ่มต้นก่อนการเป็น พิภพวานร แต่หนทางยังดูยาวไกลถ้าจะกระโดดข้ามไปสู่ยุคสมัยที่วานรครองโลกแบบทันที หลังจากเชื้อนี้ได้ระบาดไปในเอนด์เครดิตของหนังภาค RISE ข้ามผ่านมาสามปี (แต่ในหนังวันเวลาได้ข้ามผ่านมาถึงสิบปี) ทเว็นตี้ เซ็นจูรี่ ฟ็อกซ์ กลับมาสานต่อ พิภพวานร อีกครั้งใน DAWN OF THE PLANET OF THE APES ที่จะกลับมาบอกเล่าเรื่องก่อนเข้าสู่ยุคที่วานรครองโลกและมนุษย์ไม่ต่างอะไรกับสัตว์เลี้ยง ก่อนวันเวลาที่มนุษย์บางกลุ่มจะกลับมาจากอวกาศแล้วต้องตกตะลึงกับโลกลึกลับที่ไม่ใช่โลกที่พวกเขารู้จัก..!!
..กับหนังที่วางตัวเองอยู่ตรงกลาง? ระหว่างภาคต้น (RISE) ก่อนข้ามไปสู่ภาคต่อที่จะเล่าเรื่องเป็นหนที่สาม! นี่จะห่างจาก RISE เป็นเวลาสิบปี กลุ่มบรรดาลิงที่ตอนนี้ต้องเรียกว่า วานร หลังจากการต่อสู้ในตอนจบที่สะพานโกลเด้นเกท บัดนี้วานรทั้งหลายได้ก่อตั้งสังคมขึ้นมา สังคมที่เรียกว่า "ครอบครัว" ส่วนทางด้านบรรดากลุ่มมนุษย์ที่รอดชีวิตจากเชื้อก็ได้รวมกลุ่มกัน ตัดแยกออกจากกันระหว่าง วานร และ มนุษย์ แต่แล้วเมื่อพลังงานที่กำลังจะไม่พอใช้ กลุ่มมนุษย์จึงต้องหาทางที่จะไปทำให้เขื่อนทำงาน แต่เขื่อนนั่นก็อยู่ใกล้กับจุดที่วานรอยู่ และแล้วนี่ก็เป็นชนวนเหตุที่จะเป็นจุดเริ่มต้นจริงๆ ที่ทำให้เกิดสงครามระหว่างมนุษย์กับวานร..
..อย่างที่รู้กันว่าหนังแฟรนไชส์ตระกูลนี้คือ PLANET OF THE APES หาใช่ชื่อว่า PLANET OF THE HUMANS เพราะงั้นคงไม่ต้องบอกก็รู้ว่าในที่สุดบทสรุปของหนังจะออกมาเป็นแบบไหน จะลงเอยแบบไหน เพราะก็รู้กันอยู่จากหนังต้นฉบับปี 1968 ของ แฟรงคลิน เจ ชาฟฟ์เนอร์ หรือแม้แต่ฉบับรีเม็คปี 2001 ของ ทิม เบอร์ตัน เองก็ดี เพราะงั้นความน่าสนใจทั้งหมดของหนังก็คือหนังจะทำยังไงให้แฟรนไชส์นี้ไปต่อกับ พิภพวานร ซึ่งอันที่จริงไม่ต้องมีภาคต่อนี้ก็ได้ เพราะอันที่จริงตัว RISE ก็อธิบายเรื่องราวไว้หมดแล้ว! แต่ก็อย่างที่รู้ว่า RISE มันทำออกมาได้ดีทั้งคำวิจารณ์และการทำเงิน ทำให้ ฟ็อกซ์ จึงต้องเข่นไอ้ภาคนี้ออกมา..
..หนังส่วนใหญ่ที่เป็นภาคต่อจำพวกหนังบล็อคบัสเตอร์ (หลังปี 2000) ทั้งหลายส่วนใหญ่มักจะโดนเอาไปเทียบกับภาคแรกในแง่ของเนื้อหาและความดีงามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยิ่งถ้าภาคแรกดันทำไว้ได้ดีมาก (IRON MAN, STAR TREK, TRANSFORMERS จำพวกนี้) งานภาคต่อจึงต้องกลายเป็นเป้าชั้นดีให้ทั้งบรรดาแฟนๆ หรือ นักวิจารณ์ จับผิดและเอามาทำมิดีมิร้ายแบบหนีไม่ได้ ถ้าหากดันทำได้แย่กว่าภาคแรก (ไปดูสภาพศพ IRON MAN 2 หรือ REVENGE OF THE FALLEN เป็นออเดิร์ฟกันได้) แต่มันก็จะมีหนังบางกลุ่มที่ภาคแรกดันทำได้ดีระดับนึง และบางทีทำได้ดีมาก! แต่ภาคสองดันทำได้ดีกว่าเข้าไปอีก (คิดถึง THE DARK KNIGHT, STAR TREK INTO DARKNESS, CAPTAIN AMERICA: THE WINTER SOLDIER เอาไว้)..
..และก็ใช่ครับ RISE OF THE PLANET OF THE APES นั่นทำได้ดีมากถึงมากที่สุด เป็นหนังที่ทุกอย่างเข้าขั้นเพอร์เฟกต์! แต่สำหรับ DAWN OF THE PLANET OF THE APES ที่เป็นภาคต่อกลับทำได้ดีกว่าขึ้นไปอีก! การที่หนังดูเป็นงานที่เป็นงานดราม่าที่แสดงออกถึงการวิพากย์สังคมอย่างเห็นได้ชัด ยกตัวอย่างเช่นเรื่องของเผ่าพันธ์ (มนุษย์กับวานรที่แยกกันอยู่อย่างเช่นกัน ซึ่งต่างฝ่ายต่างหวาดกลัวซึ่งกันละกัน จนอาจจะนำพามาซึ่งสงคราม), สังคม (ในกลุ่มวานรที่เห็นได้ชัดว่ามีการรวมตัวกันเป็นสังคมขนาดใหญ่ มีผู้ปกครองอย่างชัดเจน แต่เมื่อรวมกันเป็นสังคมขึ้นมาก็ต้องมีเรื่องของอำนาจขึ้นมา (เรียกได้ว่าเป็นการเมืองขนาดย่อม)) ไหนจะมีเรื่องแตกย่อยลงมาอย่างเรื่อง ครอบครัว, พ่อและลูก, ความภักดี เป็นต้นย่อยออกมาอีก..
..แต่เอาเข้าจริงๆ หนังก็ไม่ได้มีอะไรมากนัก ถึงดูจะทำตัวให้เป็นงานวิพากย์วิจารณ์สังคม แต่หนังก็ไม่ได้ลงลึกจนเกินไปแค่ใส่มาให้หนังมันมีอารมณ์ประมาณนี้ลอยอยู่ในตัวหนัง แต่ที่ถือเป็นไฮไลท์สำคัญของหนังและเป็นจุดที่ดีที่สุดของหนัง คือการนำเสนอวิวัฒนาการของกลุ่มวานรขึ้นไปอีกขั้น เริ่มมีการพูดคุยกันผ่านภาษามือ หรือ เริ่มพูดกันแบบไม่เป็นประโยคเป็นคำๆ ไป แต่ก็ฟังกันรู้เรื่อง (ทั้งวานรและคนดู) ซึ่งหนังเริ่มทำให้เห็นขึ้นมาเรื่อยๆ ว่ากว่าจะไปเป็นวานรที่ครองโลกได้เริ่มเป็นยังไง (วานรขี่ม้า ไหนจะเริ่มจับปืนได้และยิงปืนได้ เริ่มอ่านได้เขียนได้และพูดได้ แต่ที่เป็นจุดเปลี่ยนคือรุ่นลูกของซีซ่าร์ที่ในช่วงท้ายเริ่มพูดแบบไม่ตระกุกตระกักแล้ว) แถมวานรทั้งหลายเริ่มมีจุดยืนเป็นของตัวเอง (ซีซ่าร์ หรือแม้แต่ โคบา)..
..ซึ่งการได้ดูอารมณ์และการพัฒนาของวานรพวกนี้ นับว่าหนังสร้างจุดที่ทำให้หนังพีคและเอพิคมากขึ้นเรื่อยๆ ถือเป็นการดราม่าที่ไต่ระดับจากศูนย์ถึงร้อยได้แบบพีคในอารมณ์มาก แม้ในส่วนของมนุษย์จะทำให้หนังแกว่งไปหน่อยก็ตาม เพราะไอ้พวกมนุษย์ไม่ได้มีอะไรเท่าไร (ก็แค่อยากจะหาทางรอดแต่ดันไปอยู่ผิดที่ผิดสปีชี่ส์เท่านั้น) ก็ถ้าไม่นับว่าพวกมนุษย์ทั้งหมดนี่เป็นต้นเหตุกับการทำให้หนังไปต่อที่ PLANET OF THE APES ได้ จริงๆ ก็ไม่ได้มีอะไรเลยแม้แต่นิด..
..สำหรับ DAWN OF THE PLANET OF THE APES แสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีการสร้างภาพนี่มันขยับไปอีกขั้นแล้ว ใน RISE ทาง WETA ดิจิตอลเจ้าพ่อสายนี้ สายโมชั่นแคปเจอร์ บวกพลังของ แอนดี้ เซอร์คิส ก็ทำให้พวกวานรในภาค RISE นี่เนียนตาจนเหมือนของจริงแล้วน่ะ แต่ในภาค DAWN นี้กลับทำได้ดีมากขึ้นไปอีก วานร นี่จัดว่าเนียนแล้ว แต่ในภาคนี้มันเด่นมาก ในการทำในส่วนของการแสดงออกผ่านสีหน้าจนเหมือนจริงมาก อารมณ์โกรธ อารมณ์โมโห อารมณ์เศร้า การแสดงออกทางสีหน้า และ แววตา ทำซ่ะแทบขนลุก ยิ่งการแสดงของ แอนดี้ เซอร์คิส ในบท ซีซ่าร์ ก็ทำได้ดีแล้วน่ะ แต่เจ้า โคบา ที่รับบทโดย โทบี้ เคปเบลล์ นี่ซิเป็นไฮไลท์ของจริง ทั้งสีหน้าและแววตา สุดๆ จริงๆ..
..DAWN OF THE PLANET OF THE APES นั้นได้ แม็ตต์ รีฟส์ ผู้กำกับของ CLOVERFIELD และ LET ME IN มาทำหน้าที่ผู้กำกับภาค DAWN แทนที่ผู้กำกับภาค RISE อย่าง รูเพิร์ต ไวแอตต์ ซึ่งตัวรีฟส์เองนั้นเป็นแฟนของ พิภพวานร เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว มิน่าทำไมภาคนี้การเน้นในส่วนอารมณ์ของวานรถึงได้ยกระดับไปอีกขั้นจนน่าตกใจ (ในภาคต่อไปที่จะใช้ชื่อว่า PLANET OF THE APES จะได้ รีฟส์ กลับมากำกับ) เรียกได้ว่าคิดถูกที่เอามาทำหน้าที่กำกับเพราะงานที่เห็นคือคำตอบอยู่แล้ว อีกอย่างที่ไม่พูดถึง เมื่อการนำเสนอดีแล้ว การได้เพลงสกอร์ประกอบของ ไมเคิล เกียคชิโน่ มายกระดับหนังนี่เป็นอะไรที่ทำให้หนังออกมาสมบูรณ์แบบจริงๆ ครับ...
ความยาวทั้งหมด 130 นาที
คะแนน 9/10
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น