วันศุกร์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2558

INSIDE OUT


INSIDE OUT / มหัศจรรย์อารมณ์อลเวง


ผู้จัดจำหน่าย : WALT DISNEY STUDIOS MOTION PICTURES
สตูดิโอผู้สร้าง : PIXAR ANIMATION STUDIOS
ผู้กำกับ : พีท ดอคเตอร์ (MONSTERS, INC., UP), รอนนี่ เดล คาร์เมน
ประเภทของหนัง : ANIMATION | ADVENTURE | COMEDY

“บทความนี้อาจเปิดเผยเรื่องราวของหนังที่อาจทำให้คนที่ยังไม่ดูหนัง
อาจเสียอรรถรสในการดูหนังได้ และการเขียนนี้เป็นความเห็นส่วนตัวล้วนๆ”

มุมมอง
“ทุกความโศกเศร้าและจะพบกับความสุข”


กี่ปีมาแล้วที่เราไม่ได้ชมหนังระดับ มาสเตอร์พีซ จาก พิกซ่าร์ อนิเมชั่น ซึ่งถ้าจะย้อนไปก็คงตอนปี 2010 กับ TOY STORY 3 นู้นเลยทีเดียวเพราะหลังจากนั้นทั้ง CARS 2, BRAVE และ MONSTERS UNIVERSITY ต่างไม่ใช่งานระดับมาสเตอร์พีซ (แต่มันก็ดูสนุกตามมาตรฐานหนังอนิเมชั่นน่ะ) จนมาถึงปี 2015 นี้นี่แหละที่ พิกซ่าร์ ส่งงานอนิเมชั่นระดับมาสเตอร์พีซมาประดับวงการอีกหนกับอนิเมชั่นหลากอารมณ์อย่าง "INSIDE OUT" งานกำกับของ พีท ดอคเตอร์ (MONSTERS, INC., UP) และ รอนนี่ เดล คาร์เมน

INSIDE OUT เล่าเรื่องของเด็กสาวนาม ไรลี่ย์ (ให้เสียงโดย เคทลิน ดิแอซ) ที่เกิดและเติบโตที่ มินนิโซต้า ในวันที่เธอเกิดในหัวสมองของเธอได้ปรากฏอารมณ์นามว่า ความสุข (พากย์โดย เอมี่ โพห์เลอร์) ผู้ที่จะคอยควบคุมให้ไรลี่ย์พบแต่ความสุข หลังจากบรรดาอารมณ์อื่นๆ ก็ตามมาทั้ง ความเศร้า (ฟิลลิส สมิธ), ความกลัว (บิลล์ เฮเดอร์), ความโกรธ (ลูอิส แบล็ค) และ ความรังเกียจ (มินดี้ คาลิงก์) ทั้งห้ามีหน้าที่คอยดูและและปกป้องไรลี่ย์จากสถานการณ์ต่างๆ, เมื่อไรลี่ย์อายุได้ 11 ปีครอบครัวของเธอได้ตัดสินใจย้ายบ้านมาอยู่ ซาน ฟรานซิสโก ทำให้ไรลี่ย์ต้องทิ้งเพื่อนๆ และชีวิตอันคุ้นเคย แต่ในขณะเดียวกัน ความสุข ก็กำลังวิตกเรื่องที่ ความเศร้า ชอบเข้ามายุ่งกับความทรงจำเกี่ยวกับความสุขของไรลี่ย์ ซึ่งนั่นส่งผลให้อารมณ์ของไรลี่ย์เปลี่ยนไป...


เชื่อว่าหลายคนอาจที่จะเคยจินตนาการอะไรแบบนี้บ้างเป็นบางครั้งที่ว่าสมองของคนเราบางครั้งอาจจะมีคนหรือใครที่คอยควบคุมสั่งการตัวเราหรือแม้แต่อารมณ์ ให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้แสดงออกอย่างนี้อย่างนั้น อยู่ข้างในสมองเราอะไรแบบนี้ ซึ่งทั้ง พีท ดอคเตอร์ และ รอนนี่ เดล คาร์เมน จับเอาประเด็นนี้มานำเสนอเกิดเป็นเรื่องราวใน INSIDE OUT ขึ้นมา ซึ่ง! ถ้าดูผ่านๆ แค่โปสเตอร์หรือตัวอย่าง อาจจะคิดว่านี่เป็นหนังอนิเมชั่นที่ทำมาเพื่อความบันเทิงและคงเจาะตลาดกลุ่มเด็กเท่านั้น แต่พอได้ชมได้ดูก็ขอบอกคำเดิมว่าหนังทำมาเพื่อให้เด็กๆ ดูอยู่เหมือนเดิม???

แต่เด็กๆ ก็อาจจะดูเพื่อความบันเทิง แต่ถ้ามองให้ลึกลงไปหนังหนังไม่ได้เจาะแค่ตลาดเด็กๆ เท่านั้นแต่หนังยังนำเสนอเรื่องราวที่ผู้ใหญ่มากๆ INSIDE OUT เป็นอนิเมชั่นที่เนื้อหาบันเทิงมากๆ น่ะแต่ในความบันเทิงมันสอดแทรกประเด็นที่เป็นผู้ใหญ่มากๆ เกี่ยวกับเรื่องของเด็กที่ดูในวัยกำลังเติบโต (ม. ต้น - ม. ปลาย ที่ถ้าไม่ดูแลให้ดีก็อาจเสียผู้เสียคนได้) ซึ่งตัว ไรลี่ย์ เนี่ยอยู่ในวัยนั้นพอดิบพอดีแถมตัวเธอยังต้องมาพบเจอความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิตพอดิบพอดีทำให้อารมณ์และนิสัยของไรลี่ย์เปลี่ยนไป จนทำให้บรรดาอารมณ์ในตัวเธอเกิดความเปลี่ยนแปลงไป


ยิ่งแล้วใหญ่ที่อารมณ์ในตัวของเธอได้หายไปซึ่งถือว่าเป็นอารมณ์หลักสองอารมณ์นั่นคือ ความสุข กับ ความเศร้า ซึ่งหนังก็ทำให้เห็นน่ะว่าถ้าคนเราไม่มีสองอารมณ์นี้จะเป็นยังไงถ้าเราต้องใช้ชีวิตที่วนเวียนอยู่แค่ ความกลัว, ความโกรธ และ ความรังเกียจ แค่นั้นล่ะชีวิตจะมีแต่ปัญหาได้ตลอดเวลา เพราะทั้งสองอารมณ์ที่หายไปมันจะเกื้อหนุนกันเองอยู่ เพราะถ้าเราเศร้าเสียใจถ้าผ่านไปได้ก็อาจจะเจอความสุขในวันข้างหน้า อะไรแบบนี้ ซึ่งพอเอาเรื่องราวทั้งสองเรื่องทั้งไรลี่ย์และก็อารมณ์มารวมกัน ทำให้เราเห็นสารที่ทีมงานตั้งใจจะสื่อก็คือการเปลี่ยนแปลงจากเด็กไปสู่ผู้ใหญ่ หรือพูดง่ายๆ ก็การก้าวพ้นวัย (Coming-of-Age) นั่นเอง

นอกจากนี้เองหนังยังพาให้เราหวนระลึกถึงความทรงจำวัยเด็กของคนดู ด้วยยกตัวอย่างเช่น การมีเพื่อนในจินตนาการอะไรแบบนี้ คิดง่ายๆ ก็แบบตอนเล่นของเล่นอะไรแบบนี้ไง เราจะจินตนาการได้บรรเจิดมากๆ แต่พอเราเติบโตขึ้นซึ่งพอถึงวันหนึ่งเราก็จะลืมเลือนเพื่อนคนนั้นไป ซึ่งประเด็นตรงนี้ก็แอบคล้าย TOY STORY 3 เหมือนกัน (ตอนจากลากัน) ซึ่งสรุปแล้วไม่รู้จะพูดได้มั้ยว่าสนุก จะสนุกหรือไม่เราไม่รู้น่ะ แต่ถ้าบอกว่าหนังดีมั้ยของบอกว่าหนังดีมากๆ เลย


ซึ่งทั้ง พีท ดอคเตอร์ และ รอนนี่ เดล คาร์เมน และมือเขียนบท เม็ก เลฟอฟ, จอช คูลี่ย์ และ ดอคเตอร์ สามารถถ่ายทอดและนำเสนอเรื่องราวออกได้กลมกล่อมสำหรับผู้ใหญ่มากๆ (แต่เด็กก็คงสนุกกับเสน่ห์ของอารมณ์ทั้งห้านั่นแหละ) หนังมีครบทุกอารมณ์สำหรับเราจริงๆ ทั้งความซึ้ง, ความเศร้า, ความสนุก และก็ ความสุข ดูจบแล้วอิ่มเอมใจแบบบอกไม่ถูกเหมือนกัน แถมในหนังยังทำได้ดีมากในส่วนของเพลงประกอบจากฝีมือ ไมเคิล เกียคชิโน่ นั่นเอง และจะไม่แปลกใจเลยถ้าหนังจะได้มีส่วนร่วมกับเวทีรางวัลทั้งหลายในปลายปีนี้และต้นปีหน้า! ปล. หนังสั้น LAVA ที่แปะหน้าทำได้ดีมากครับ...


ความยาวทั้งหมด 94 นาที
คะแนน 9/10

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Powered By Blogger